วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2551

พริกไทย

พริกไทย

ชื่อสามัญ / ชื่ออังกฤษ Pepper
ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.
วงศ์ Piperraceae
ชื่ออื่น / ชื่อท้องถิ่น พริกน้อย (เหนือ) พริก (ใต้) พริกขี้นก พริกไทยดำ พริกไทยล่อน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พริกไทยเป็นไม้เถาเลื้อยยืนต้น ลำต้นมีข้อ ซึ่งบริเวณข้อใหญ่กว่าลำต้นจนเห็นได้ชัดเจน ลำต้นอ่อนมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลตามอายุที่เพิ่มขึ้น รากของพริกไทยมีสองชนิด คือรากหาอาหารที่อยู่ใต้ดิน กับรากที่ทำหน้าที่ยึดลำต้นกับหลักซึ่งอาจจะเป็นไม้ยืนต้นอื่นหรือไม้ค้างเพื่อให้เลื้อยเติบโตต่อไปได้ ใบของพริกไทยเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับตามข้อและตามกิ่ง ใบเป็นรูปไข่ โคนใบใหญ่ ใบกว้างประมาณ 6-10 ซ.ม. ยาว 7-14 ซ.ม. ลักษณะคล้ายใบพลู ผิวใบเรียบเป็นมัน ขนาดและลักษณะของใบจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อในแนวยาวตรงข้ามกับใบ ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 70-85 ดอก ช่อดอกอ่อนมีสีเหลืองอมเขียว เมื่อแก่จะมีสีเขียวและปลายช่อห้อยลง ผลของพริกไทยมีลักษณะกลม เรียงตัวกันเป็นพวงอัดแน่นอยู่กับแกนช่อ มีรสเผ็ดร้อน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกจะมีสีส้มแดง ผลที่นำมาใช้มีสองชนิด คือ พริกไทยดำ และพริกไทยล่อน พริกไทยดำทำได้โดยเก็บผลที่โตเต็มที่มีสีเขียวแก่มาตากจนแห้ง ซึ่งจะได้พริกไทยสีดำเหี่ยว ส่วนพริกไทยล่อนคือการเก็บผลพริกไทยที่เริ่มสุกมาแช่น้ำแล้วนำมานวดเพื่อลอกเปลือกออก แล้วตากแดด จะได้ผลพริกไทยมีสีขาวเป็นเงา พันธุ์พริกไทยที่นิยมปลูกในประเทศไทยมี 6 พันธุ์ คือ พันธุ์ใบหนา พันธุ์ความยขวิด พันธุ์บ้านแก้ว พันธุ์ปรางถี่ธรรมดา พันธุ์ปรางถี่ใบหยิก พันธุ์คุชชิง

สรรพคุณ
1. เปลือกของพริกไทยมีน้ำย่อยสำหรับย่อยไขมัน ด้วยเหตุนี้ตำราโบราณจึงเชื่อกันว่าพริกไทยสามารถลดความอ้วนได้
2. พริกไทยช่วยกระตุ้นปุ่มรับรสที่ลิ้น เพื่อให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยได้มากขึ้น
3. พริกไทยดำมีรสเผ็ดอุ่น เมื่อรับประทานเข้าไปจะรู้สึกอุ่นวาบที่ท้อง ช่วยขับลม ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรค
4. ใช้ก้านพริกไทย 10 ก้าน บดให้ละเอียดแล้วต้มกับน้ำ 8 แก้ว ใช้เป็นยาล้างแผลที่อัณฑะ
5. สารพิเพอรีนในพริกไทยสามารถใช้เป็นยาฆ่าแมลง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยนำผลพริกไทยมาทุบให้แตกแล้วใช้โรยบริเวณตู้เสื้อผ้าหรือบริเวณที่ต้องการ

ส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร
ผลพริกไทยอ่อน และผลที่โตเต็มที่

วิธีใช้ในการประกอบอาหาร
ใส่ผลพริกไทยอ่อนในผัดเผ็ด แกงป่า เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์เช่น ผัดเผ็ดหมูป่า ผัดเผ็ดปลาดุก ส่วนพริกไทยดำและพริกไทยล่อนต่างก็ใช้เป็นเครื่องชูรสและแต่งกลิ่นอาหาร โดยใช้ทั้งแบบที่เป็นเม็ดเพื่อหมักเนื้อสัตว์ ใส่ในเครื่องพะโล้ และแบบที่เป็นผงใช้โรยหน้าอาหาร นอกจากนี้พริกไทยยังช่วยถนอมอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทำให้เก็บอาหารได้นานขึ้น

ข้อสังเกต / ข้อควรระวัง
1. ไม่ควรรับประทานพริกไทยมากเกินไป
2. ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคตาและเจ็บคอไม่ควรรับประทาน
3. พริกไทยดำจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าพริกไทยล่อนโดยเฉพาะสรรพคุณที่นำมาประกอบเป็นยาอายุวัฒนะ

วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2551

เสลดพังพอน


เสลดพังพอน
Bariena lunulina Linae
วงศ์ Acanthaceae
ชื่อพื้นเมือง
ตราด ชองระอา, ทั่วไป เสลดพังพอนตัวผู้,กลาง พิมเสนต้น,จีน เซ้กแซเกี่ยมฮวยเฮียวแก่โต่วเกียง
ขนาดและวิธีใช้
ใช้ใบสด 10 - 15 ใบ ตำ ถ้าแผลแตกให้ใช้น้ำปูนใสแทนน้ำ ทาบริเวณที่เป็นวันละ 4 - 5 ครั้ง จนกว่าจะหาย
ลักษณะ
ไม้พุ่มสูง 1 - 2 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ลำต้นมีหนามสีน้ำตาล 2 คู่ ชี้ลงดิน อยู่ตรงข้อและขนาบโคนก้านใบ กิ่งก้านสีน้ำตาลแดง ใบ เดี่ยว อออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ รูปใบยาวเรียว แคบโคนและหลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้นก้านใบแกนกลางใบมีสีแดง ดอก ช่อ ออกตรงปลายยอดช่อดอกอ่อนมีใบประดับหุ้มปิด ใบประดับสีน้ำตาลอมแดง ดอกจะบานครั้งละ 2 - 3 ดอก และใบประดับจะแง้มออก กลีบดอกสีเหลืองจำปา โคมกลีบดอกติดกัน ปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนใหญ่มี 4 แฉก ปากล่างเล็กมี 1 แฉก ส่วนที่ใช้ ใบสด สารที่สำคัญ ใบมีสาร iridoid ซึ่งจากการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่ามีฤทธิ์แก้การอักเสบบำบัดอาการงูสวัด

วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

มะกรูด

มะกรูด

Leech Lime, Kaffir LimeCitrus hystrix D.C. วงศ์ Rutaceae

ชื่อท้องถิ่น
มะขูด มะขุน ส้มกรูด ส้มมั่วผี

ลักษณะ
มะกรูดเป็นพืชที่ใช้เป็นเครื่องเทศมานานแล้ว โดยใช้ผิวของผลเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงหลายชนิด ใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสมในเทียนอบ ใบมะกรูดมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นในอาหารคาวหลายชนิดเช่น ต้มยำ แกงเผ็ด น้ำมะกรูดใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยวและดับกลิ่นคาวปลาคนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมันไม่แห้งกรอบ คนไทยนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวน มะกรูดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็ก ใบมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างกลม ผิวขรุขระมีปุ่มนูนและมีจุกที่หัวของผล ส่วนที่ใช้ คือ ใบและผล

สารสำคัญ
ในใบและผลมะกรูด เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะให้น้ำมันหอมระเหยในปริมาณ 0.08 % และ4 % ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดมักประกอบด้วยเบต้า-ไพนีน, ไลโมนีนและซาบินีน เป็นสารหลักส่วนน้ำมันหอมระเหยจากใบจะประกอบด้วย ซีโทรเนลลาล, ไอโซพูลิโกลและไลนาลูออล เป็นสารหลัก ส่วนในน้ำมะกรูดมีกรดซิตริก ไวตามินซีและกรดอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ

ตะไคร้หอม

ตะไคร้หอม

Cymbopogon nardus Rendle วงศ์ POACEAE (GRAMINEAE)

ชื่อท้องถิ่น
ตะไคร้แดง จะไคมะขูด ตะไครมะขูด คาหอม ไคร จะไคร เซิดเกรยตะไคร้ ห่อวอตะโป่ หัวสิงโต เหละเกรย Lapine, Lemongrass,West Indian lemongrass

ลักษณะพืช
พืชล้มลุก อายุหลายปี มีเหง้า ลำต้นตั้งตรง สูง 2 เมตร ออกเป็นกอใบเกลี้ยง รูปยาวแคบ กว้าง 5-20 มม. ยาวได้ถึง 1 เมตร มีกลิ่นหอมตรงรอยต่อระหว่างใบกับกาบ มีแผ่นรูปไข่ปลายตัดยื่นออกมา ยาวประมาณ 2 มม. มีขนกาบหุ้มติดทน กาบล่างสุดเกยซ้อนกัน เมื่อแห้งจะม้วนขึ้น ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ยาวได้ถึง 80 ซม.มีใบประดับ ลักษณะคล้ายกาบ ยาวประมาณ 25 มม. รองรับอยู่ ช่อดอกแยกเป็นหลายแขนง แต่ละแขนงมีช่อย่อย 4-5 ช่อ ผลแห้งไม่แตก ตะไคร้หอมมีลักษณะส่วนใหญ่คล้ายกับตะไคร้กอ ต่างกันที่กลิ่น ต้นและใบยาวกว่าตะไคร้กอมาก แผ่นใบกว้างยาวและนิ่มกว่าเล็กน้อย

การปลูก
ใช้หน่อหรือเหง้าชอบขึ้นในดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง ชอบแดดมากส่วนที่ใช้เป็นยา ใบและกาบใบ

สรรพคุณ
ยาไทย ต้นแก้ริดสีดวงในปาก (คือปากแตกระแหง เป็นแผลในปาก) สตรีมีครรภ์รับประทาน ทำให้แท้ง บีบรัดมดลูก ขับลมในลำใส้ แก้แน่น ตะไคร้หอมได้ถูกนำมาใช้ไล่แมลง อย่างแพร่หลายนานมาแล้ว โดยละลายน้ำมันตะไคร้หอม 7 ส่วน ผสมในแอลกอฮอล์ (70%) 93 ส่วนฉีดพ่นหรือตำใบสดหมักในแอลกอฮอล์ใน อัตราส่วน 1:1 ทาตรงขอบประตู ที่ปิดเปิดเสมอ หรือชุบสำลีแขวนเอาไว้หน้าประตูเข้าออก หรือใช้ใบตะไคร้หอม มัดแล้วทุบให้ช้ำวางใว้ตามมุมห้องหรือใต้เตียง

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
ใบและกาบใบมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมี Geraniol และ Citronellalเป็นส่วนประกอบสำคัญ มีฤทธิ์ในการไล่แมลง

คนทีสอ

คนทีสอ

Tree Leaved Chaste Tree, Indian Privet,Indian Wild PepperVitex trifolia LinnVERBENACEAE

ชื่ออื่น
คนทีสอขาว, โคนดินสอ, สีสอ (ประจวบ), มูดเพิ่ง (ตาก), ผีเสื้อน้อย,ดอกสมุทร, สีเสื้อน้อย

รูปลักษณะ
เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 3-6 เมตร เปลือกนอกสีเทาดำเปลือกในสีเหลืองอ่อน แตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว เรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง 2-3 เมตร ในประเทศไทยพบขึ้น ตามป่าเบญจพรรณทั่วไปในต่างประเทศพบว่า มีถิ่นกำเนิดแถบเอเชียถึงออสเตรเลียความน่าสนใจของไม้ต้นนี้คือ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีดอกดก สีหวาน และตัดแต่งทรงพุ่มได้ง่าย ปลูกได้ทั่วไปใช้พื้นที่ไม่มากนัก ใช้เป็นองค์ประกอบในการจัดสวนได้ดี และใช้ด้านสมุนไพรไทยได้มากมายเกือบทุกส่วน เช่น ต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดท้องอืด เฟ้อ เปลือกแก้ไข้ แก้ระดูพิการ แก้คลื่นเหียน แก้พยาธิ แก้จุกเสียด ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ แก้พยาธิ แก้หืดไอ แก้ไข้ในหญิงมีครรภ์ แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนมดี

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ รสร้อนสุขุมหอม บำรุงน้ำดี ขับลม แก้หือไอ ฆ่าพยาธิแก้สาบสางในร่างกาย แก้ริดสีดวงจมูก แก้เสมหะ จุกคอแก้ลำไส้พิการ แก้ปวดตามกล้ามเนื้อตามข้อ ขับเหงื่อ

ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ในหญิงมีครรภ์ แก้ไข แก้หืดไอ ฆ่าแม่พยาธิ

ลูก รสร้อนสุขุม แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้ไข้ ฆ่าพยาธิ แก้ไอแก้ริดสีดวง ท้องมาน

เมล็ด รสร้อนสุขุม ระงับปวด เจริญอาหาร

ราก รสร้อนสุขุม (ร้อนติดเมาอ่อนๆ) แก้ไข้ แก้โรคตับ โรคตาถ่ายน้ำเหลือง ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ

ต้น ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียดท้องอืด เฟ้อ เปลือกแก้ไข้ แก้ระดูพิการ แก้คลื่นเหียน แก้พยาธิ แก้จุกเสียด

ดอก รสหอมฝาด แก้ไข้ แก้พยาธิแก้หืดไอ แก้ไข้ในหญิงมีครรภ์ แก้ไข้อันบังเกิดแต่ทรวง บำรุงครรภ์มารดา บำรุงน้ำนมดี

ดอกอัญชัน


ดอกอัญชัน

Clitoria Ternatea Linn.Butterfly Pea, Blue Pea วงศ์ Papilionaceae

ชื่อท้องถิ่น
เอื้องชัน (ภาคเหนือ) แดงชัน (เชียงใหม่)

ลักษณะ
เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นเถาเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ต่าง ๆใบเป็นใบประกอบออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 5-7ใบ ลักษณะกลมโตคล้ายพุทราเนื้อใบด้านบนเรียบ ปลายใบมน มีกระดูกใบเห็นได้ชัดเจนดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามข้อหรือซอกใบ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว ซึ่งมีชนิดดอกชั้นเดียว และดอก 2 ชั้น มีหลายสี ทั้งสีม่วงสีน้ำเงิน และสีขาว ฝักมีขนาดเล็กค่อนข้างแบน มีเมล็ดอยู่ภายใน


แหล่งที่พบ
พบได้ตามทั่วไปตามที่รกร้าง และนิยมปลูกตามบ้านเรือนเพื่อเป็นไม้ประดับ

สารที่พบ
ในดอกมีสารแอนโทไวยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่ให้สีแดงและสีน้ำเงินมีคุณสมบัติเป็นอิดิเคเตอร์ (Indicator) เช่นเดียวกับ ลิสมัส (Litmus)

สรรพคุณ
รากมีรสเย็นจืดใช้เป็นยาขับปัสสาวะพิการเป็นยาระบาย ช่วยบำรุงดวงตา แก้ตาอักเสบ ตาฟางตาแฉะ โดยนิยมใช้รากต้นอัญชัน ชนิดดอกสีขาว นอกจากนี้ถ้านำรากมาถูฟันจะทำให้ฟันคงทนแข็งแรงและแก้อาการปวดฟันได้ดี เมล็ดใช้เป็นยาระบาย ซึ่งใช้ชนิดดอกสีนำเงินและดอกสีขาวส่วนดอกสดนำมาทาศีรษะเพื่อใช้เป็นยาปลูกผม

กระดังงา

กระดังงา

Kenanga (Ylang Ylang)Cananga odorata (Lamk.)
Hook. f. et. Th. ANNONACEAE

ชื่ออื่น
กระดังงา กระดังงาใบใหญ่ กระดังงาใหญ่ สะบันงา สะบันงาต้น

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 8-15 เมตร ลำต้นตรง เปลือกต้นเกลี้ยงสีเทา กิ่งมักจะลู่ลงใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้าง 5-7 ซม. ยาว 13-20 ซม.ขอบใบเป็นคลื่น ดอกช่อออกเป็นกระจุก ที่ซอกใบ กระจุกละ 4-6 ดอกกลีบดอกสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอม ผลเป็นกลุ่มผล ผลแก่จะเปลี่ยนจากสีเหลืองอมเขียวเป็นสีดำ

สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ดอก - มีน้ำมันหอมระเหย ใช้ทอดกับน้ำมันมะพร้าว ทำน้ำมันใส่ผมใช้ปรุงเป็นยาหอม แก้ลมวิงเวียน จัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเจ็ด





ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน


Curcuma longa Linn. วงศ์ ZINGIBERACEAE

ชื่อท้องถิ่น
ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นแกง, ขมิ้นหยวก, ขมิ้นหัว (เชียงใหม่),หมิ้น (ภาคใต้)

ลักษณะ
พืชล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดินเนื้อในของเหง้า ขมิ้นชันสีเหลืองเข้มจนสีแสดจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใบรูปเรียวยาว ปลายแหลมคล้ายใบพุทธรักษา ดอกออกเป็นช่อ มีก้านช่อแทงจากเหง้าโดยตรง ออกตรงกลางระหว่างใบคู่ในสุด ดอกสีขาว มีแถบสีเหลืองคาด มีกลีบประดับสีขาวหรือเขียวการปลูก ขมิ้นชันชอบอากาศค่อนข้างร้อน และมีความชุ่มชื้นในเวลากลางคืนชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี วิธีปลูกใช้เหง้าแก่ ที่อายุ 11-12 เดือน เป็นท่อนพันธุ์ เก็บใช้ในช่วงอายุ 9-10 เดือน ส่วนที่ใช้เป็นยา เหง้าสดและแห้ง

สรรพคุณยาไทย
เหง้าของขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา ลดการ อักเสบและ มีฤทธิ์ในการ ขับน้ำดี น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชัน มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุดเสียด

วิธีใช้
อาการแพ้อักเสบ แผล ฝีพุพอง แมลงสัตว์กัดต่อยภายนอก ใช้เหง้ายาวประมาณ 2 นิ้ว ฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็น วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นโรยทาบริเวณที่มีอาการ ผื่นคันจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ อาการ ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียดและอาหารไม่ย่อย ใช้เหง้าขมิ้น ไม่ต้องปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ตากแดดจัด ๆ สัก 1-2 วัน บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอนถ้ามีอาการท้องเสียให้หยุดยาทันที

ข้อมูล
ทางวิทยาศาสตร์ กองวิจัยและพัฒนาสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ได้ศึกษาว่า ขมิ้นชันไม่มีพิษที่รุนแรง ทั้งในการใช้ระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์พบว่า น้ำมันหอมระเหย เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยได้ทำการศึกษา ทดลองในโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง ในผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆได้แก่ ปวดแสบท้องเวลาหิว จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ เนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารจุกเสียดท้อง เนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารและ ลำไส้ ผลจากการศึกษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยที่ได้รับขมิ้นชันมีอาการดีขึ้น และไม่พบ ผลแทรกซ้อนในการใช้จากการศึกษานี้พอสรุปได้ว่า ขมิ้นชันมีประสิทธิภาพดีในการใช้ จึงสมควรที่จะเผยแพร่และพัฒนาเป็นยาต่อไป

ขี้เหล็ก


ขี้เหล็ก

Cassod Tree, Thai Copper Pod, Siamese CassiaSenna Siamea (Lamk.)
H.S.Irwin etR.C.Bameby (Cassia siamea Lamk.) FABACEAE
ชื่ออื่น
ขี้เหล็กบ้าน ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ยะหา (ปัตตานี) ผักจี้ลี้ (ฉานแม่ฮ่องสอน) แมะขี้เหละพะโคะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน) ขี้เหล็กแก่น
รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเขียว ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝัก แบบยาวและหนา
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ รสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะแก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิตดับพิษโลหิต ดองสุราดื่มก่อนนอน แก้นอนไม่หลับ
ใบอ่อน, ดอกตูมและแก่น - มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อนครั้งละ 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1.5 ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ โดยใช้วิธีนำมาดองเหล้า ดื่มก่อนนอน
ดอก รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย
ฝัก รสขม แก้ไข้พิษเพื่อปิตตะ ไข้เพื่อเสมหะ
เปลือกฝัก รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย
เปลือกต้น รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร
กระพี้ รสขมเฝื่อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้กระษัยเส้นเอ็น
แก่น รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชาแก้ไข้เพื่อกระษัย ขับโลหิต แก้เตโชธาตุพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้แสบตาแก้กามโรค หนองใส
ราก รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ช้ำ รักษาแผลกามโรค

วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2551



หากพูดถึง "ความงาม" แล้ว คุณผู้หญิงหรือท่านผู้ชายก็คงจะไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยอื่นในการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราจะมองกันไปแล้ว "ความงาม" นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัวของเรามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน โดยปกติสุขภาพจะดีมาก-น้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม การรับประทานอาหาร และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เมื่อร่างกายกินได้ ถ่ายคล่อง ผิวพรรณดี และสุขภาพแจ่มใส " ความงาม" ก็จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย
สมุนไพรเพื่อความงามสำหรับผิวหน้า

ใบหน้า คือ ด่านแรกที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจของผู้พบเห็น แต่หลายๆคนกำลังประสบปัญหาผิวหน้าไม่เรียบสวย เพราะเม็ดสิวและรอยแห้งกร้านด้วยจุดด่างดำของกระและฝ้า จนต้องเสียเงินทองมากมายเพื่อเข้าสถานเสริมความงาม หรือหาซื้อยามารักษา จึงอยากแนะนำให้ใช้สมุนไพรพืชผักและผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไป แต่มีคุณประโยชน์มากมายทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และสารบำรุงผิวธรรมชาติที่ช่วยดูแลผิวพรรณให้ชุ่มชื้นผ่องใสอ่อนไวอยู่เสมอ
1. ว่านหางจระเข้ (Aloe indica Royle) คุณค่าของว่านหางจระเข้มีมากมาย นอกจากใช้รักษาโรคแล้ว ยังใช้บำรุงผิว บำรุงเส้นผมได้ด้วย ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีแชมพูสระผม และเครื่องสำอางหลายอย่าง ที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบ และกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เนื่องจากว่านหางจระเข้ มีคุณสมบัติสามารถช่วยให้กระบวนการเมตะโบลิซึม ทำงานได้เป็นปกติ ลดการติดเชื้อ สลายพิษของเชื้อโรค กระตุ้นการเกิดใหม่ ของเนื้อเยื่อส่วนที่ชำรุด ฉะนั้น ว่านหางจระเข้จึงถูกนำมาใช้ เพื่อบำรุงผิวพรรณ ผู้ที่ใช้ว่านหางจระเข้บำรุงผิวพรรณอยู่เป็นประจำ จะรู้สึกได้ชัดว่า ว่านหางจระเข้มีส่วนช่วย ให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดชื่น มีน้ำมีนวล และยังสามารถขจัดสิว และลบรอยจุดด่างดำได้ด้วย
การใช้ว่านหางจระเข้ เพื่อบำรุงผิว โดยปอกเปลือกออก ใช้แต่เมือกวุ้นสีขาวใส ที่อยู่ภายใน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ ก่อนใช้ควรตรวจสอบว่า ตนเองจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ โดยใช้น้ำที่ได้จากวุ้นสีขาว ของว่านหางจระเข้ ทาตรงบริเวณโคนหู แล้วทิ้งไว้สักครู่ ถ้าเกิดการระคายเคืองเป็นผื่นแดง แสดงว่าแพ้ ไม่เหมาะที่จะใช้กับผิวหน้าอีกต่อไป ถ้าไม่มีอาการแพ้ ก็สามารถใช้ได้ตลอด แต่บางคนก็จะเห็นผลได้เหมือนกัน เมื่อใช้ว่านหางจระเข้ทาบริเวณหัวสิว จะทำให้หัวสิวแห้งเร็ว
นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังสามารถลดความแห้งกร้าน และลดความมันของผิวหน้าได้ โดยคนที่มีผิวมัน ก็จะช่วยให้ลดความมัน คนที่มีผิวหน้าแห้ง ก็ยังรักษาความชุ่มชื่นของผิวไว้ได้
2. งา (Sesamum indicum Linn. S. orientle. L) เป็นพืชล้มลุก ให้เมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดงามีทั้งสีดำ และสีขาว ในเมล็ดงามีน้ำมันอยู่ ประมาณ 45-54% น้ำมันงามีกลิ่นหอมน่ารับประทาน วิธีใช้ โดยการนำเอาเมล็ดงาสด มาบีบน้ำมันงาออก โดยไม่ผ่านความร้อน ใช้ทาผิวหนัง เพื่อบำรุงผิวพรรณ ให้ผุดผ่อง ช่วนประทินผิวให้นุ่มนวล ไม่หยาบกร้าน
3. แตงกวา (Cucumis sativas Linn.) จะมีวิตามินสูง ในผลแตงกวายังมีเอ็นไซม์ cryssin ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนได้ เอ็นไซม์ชนิดนี้ จะช่วยย่อยผิวหนังที่หยาบกร้าน ให้หลุดออกไป เพื่อให้ผิวใหม่ที่อ่อนนุ่ม เกิดขึ้นมาแทนที่ บางคนใช้แตงกวาสด ผ่าเป็นชิ้นบางๆ วางบนใบหน้าที่ล้างสะอาด แทนน้ำแตงกวา ปัจจุบัน มีน้ำแตงกวาผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า ครีมทาตัว เพื่อช้วยให้ผิวไม่หยาบกร้าน และช่วยสมานผิว แตงกวาเป็นสมุนไพร ที่หาง่าย มีประโยชน์ ราคาถูก ใช้ติดต่อกับเป็นประจำ จะทำให้สวนสดชื่น มีน้ำมีนวล
4. มะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.) ในมะเขือเทศ จะมีสาร Curotenoid และมีวิตามินหลายชนิด น้ำจากผลมะเขือเทศสุก จะมีสาร licopersioin ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย และน้ำมะเขือเทศสด นำมาพอกหน้า จะรักษาสิวสมานผิวหน้าให้เต่งตึง หรืออาจจะฝานบางๆ แปะลงบนผิวหน้าก็ได้
5. ขมิ้นชัน (Curcuma Longa Linn.)ในขมิ้น จะมีสาร Curcumin และมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ ขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด ใช้ทาผิวที่มีผดผื่นคัน ผงขมิ้นใช้ทาตัว เพื่อให้มีสีเหลืองทอง ใช้บำรุงผิว และช่วยฆ่าเชื้อ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิด ได้อีกด้วย
6. น้ำผึ้ง (Apis dorsata) ได้จากผึ้ง ประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคส ฟรุคโตส ขี้ผึ้ง อัลบูมินอยด์ ละอองเกสรดอกไม้ และฮอร์โมนเอสโตรเจน จำนวนเล็กน้อย น้ำผึ้งใช้เป็นส่วนประกอบ ของเครื่องสำอาง ใช้พอกหน้า ทำให้ผิวหน้าชุ่มชื่น เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลขึ้น น้ำผึ้งยังมีคุณสมบัติช่วยสมานผิว น้ำผึ้ง เป็นเครื่องสำอางจากธรรมชาติ ที่ให้ประโยชน์สูง และหาง่าย นอกจากนี้ ยังใช้น้ำผึ้งบำรุงผม ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะช่วยบำรุงหนังศีรษะ และกระตุ้นการงอกของเส้นผม
7. มะขามเปียก (Tamarindus indica Linn) มะขามเปียกมีประวัติการใช้มายาวนาน ช่วยชำระสิ่งสกปรกจากผิวหนัง เพราะฤทธิ์ที่เป็นกรดอ่อนๆ ในมะขาม จะช่วยขจัดสิ่งสกปรกจากผิวหนังได้ดี ปัจจุบัน ได้มีหญิงไทยจำนวนมาก ใช้มะขามเปียกผสมน้ำอุ่น และนมสดให้เข้ากันดี พอกบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยด้าน เช่น ตาตุ่ม ข้อศอก ฝ่ามือ ที่มีรอยกร้านดำ และบริเวณรักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้ผิวหนังที่เป็นรอยดำจางลง ทำให้ผิวขาวนุ่มนวลขึ้น และนมสดจะช่วยบำรุงผิว ให้นุ่มได้
สูตรสมุนไพรบำรุงผิวหน้า
ว่านหางจระเข้: บำรุงผิว ป้องกันฝ้า ลบรอยจุดด่างดำ รักษาสิว
แตงกวา:สมานผิว ลบรอยเหี่ยวย่น
มะเขือเทศ: สมานผิว ลดรอยเหี่ยวย่น จุดด่างดำ
ขมิ้นสด: บำรุงผิวหน้าผุดผ่องสดใสอ่อนวัย และช่วยให้สิวยุบเร็ว
กล้วยน้ำว้าสุก: บำรุงผิวนุ่มเนียนอ่อนไว
หัวไชเท้า: ช่วยลดรอยฝ้าและกระให้จางหาย
ใบบัวบก: ลดรอยตีนกา
มะขามเปียก: บำรุงผิวหน้าขาวเนียน ลดรอยฝ้าจุดด่างดำ ชำระล้างสิ่งสกปรก
กล้วยหอม: ลดรอยเหี่ยวย่น ถนอมผิวหน้าให้ชุ่มชื่น
ทุเรียน: ลดปัญหาสิวเสี้ยน
มะนาว: ลดสีเข้มของกระบนใบหน้า
มะม่วงสุก: แก้ปัญหาฝ้าและสิว
แครอต: บำรุงผิวหนแต่งตึงสดใส
มะเขือเทศ: รักษาสิวหัวดำ ป้องกันรูขุมขนอุดตัน ทำความสะอาดผิวหน้า
สับปะรด: บำรุงผิวหน้าขาวใส และช่วยขจัดเซลล์ตายให้หลุดลอก
แตงโม: บำรุงผิวหน้าชุ่มชื่นสดใส

สมุนไพรเพื่อความงามสำหรับผิวกาย
ผิวกาย จะเปล่งปลั่งนุ่มนวลไร้รอยกร้าน และรอยหมองคล้ำ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย และยังมีการถนอมผิว บำรุงผิวอีกหลายๆรูปแบบ ส
มุนไพรพื้นๆ ที่มีอยู่ทั่วๆไปเอามาใช้บำรุงผิว ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีจึงอยากบอกต่อ รับรองว่าผิวคุณจะสวยขึ้นแน่นอน
มะนาว : ช่วยให้ผิวลำคอขาวแต่งตึง
มะนาว : ช่วยขจัดรอยแห้งกร้าน
มิ้นสด : บำรุงผิวให้ขาวเนียนนวล
สับปะรด : ขัดผิวขาวไร้รอยแห้งกร้าน
กล้วยหอมสุก : ช่วยให้ผิวมือนุ่มไม่หยาบกร้าน

สมุนไพรเพื่อความงามสำหรับเส้นผม
ทรงผม หรือเส้นผม เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดีขึ้นได้ สิ่งที่ควรคำนึงในหารดูแลเส้นผม ได้แก่ อาหารจำพวกโปรตีนที่ได้จากเนื้อ นม ไข่ ฯลฯ และวิตามิน A,C,E,B5 ที่ได้จากผลไม้ต่างๆและธัญพืช จำพวกถั่ว งา ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯ
น้ำตะไคร้ : บำรุงผมให้ดกดำเงางาม และแก้ปัญหา ผมแตกปลาย
กระเทียม : รักษารากผมและช่วยให้ผมหงอกช้า
เปลือกส้มเขียวหวาน : แก้ผมร่วง และดับกลิ่นเหงื่อ ศีรษะล้าน
ขิง : ปลูกผมบนรอยแผลเป็นที่ศีรษะ
มะกรูด : ป้องกันรังแคและบำรุงเส้นผมให้ดกดำ
มะกรูด : แก้ปัญหาเส้นผมใหญ่และดกดำ
ว่านหางจระเข้ : บำรุงผมดกดำเงางาม
มะละกอสุก : ช่วยแก้ปัญหาผมมัน
น้ำมะนาว : บำรุงเส้นผมให้เงางาม

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พืชสมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรค


พืชสมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรค

1. สมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคหรืออาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร มีดังนี้
1.1 โรคกระเพาะอาหาร ขมิ้นชัน กล้วยน้ำว้า
1.2 อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขมิ้น ขิง กานพลู กระเทียม ตะไคร้ พริกไทย ดีปลี ข่า กระชาย แห้วหมู กระวาน เร่ว มะนาว กระทือ
1.3 อาการท้องผูก ชุมเห็ดเทศ มะขาม มะขามแขก แมงลัก ขี้เหล็ก คูน
1.4 อาการท้องเสีย ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร กล้วยน้ำว้า ทับทิม มังคุด สีเสียดเหนือ
1.5 อาการคลื่นไส้อาเจียน ขิง ยอ
1.6 โรคพยาธิลำไส้ มะเกลือ เล็บมือนาง มะหาด ฟักทอง
1.7 อาการปวดฟัน แก้ว ข่อย ผักคราดหัวแหวน
1.8 อาการเบื่ออาหาร บอระเพ็ด ขี้เหล็ก มะระ สะเดาบ้าน
2. สมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคหรืออาการเจ็บปวดในระบบทางเดินหายใจ มีดังนี้
อาการไอ และระคายคอจากเสมหะ ขิง ดีปลี เพกา มะขามป้อม มะขาม มะนาว มะแว้งเครือ มะแว้งต้น
3. สมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคหรืออาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินปัสสาวะ มีดังนี้
อาการขัดเบา กระเจี๊ยบแดง ขลู่ ตะไคร้ สับปะรด หญ้าคา อ้อยแดง
4. สมุนไพรเพื่อรักษากลุ่มโรคผิวหนังมีดังนี้
4.1 อาการกลากเกลื้อน กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ ทองพันชั่ง พลู
4.2 ชันนะตุ มะคำดีควาย
4.3 แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บัวบก น้ำมันมะพร้าว ว่านหางจระเข้ น้ำแข็ง
4.4 ฝี แผล พุพอง ขมิ้น ชุมเห็ดเทศ เทียนบ้าน ว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้ว่ ฟ้าทะลายโจร
4.5 อาการแพ้ อักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ขมิ้นชัน ตำลึง ผักบุ้งทะเล พญายอ เสลดพังพอน
4.6 อาการลมพิษ พลู
4.7 อาการงูสวัดเริม พญายอ
5. สมุนไพรเพื่อรักษาโรค อาการเจ็บป่วยอื่น ๆ มีดังนี้
5.1 อาการเคล็ดขัดยอก ไพล
5.2 อาการนอนไม่หลับ ขี้เหล็ก
5.3 อาการไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
5.4 โรคเหา น้อยหน่า












วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551




สารประกอบทางเคมีของพืชสมุนไพร

ทัศนะของวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เชื่อว่า ในพืชสมุนไพรซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นยารักษาโรคมานานประกอบด้วยสารทางเคมีหลายชนิด แต่ละส่วนของพืชสมุนไพรมีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไปสารเหล่านี้เป็นตัวกำหนดสรรพคุณของพืชสมุนไพร ชนิดและปริมาณของสารจะแปรตามชนิดของพันธุ์สมุนไพร สภาพแวดล้อมที่ปลูกและช่วงเวลาที่เก็บพืชสมุนไพร

นักวิทยาศาสตร์ได้นำความรู้และวิธีการทางเคมีมาค้นคว้า วิจัยสารเคมีที่มีฤทธิ์ในพืชสมุนไพรทำให้ทราบรายระเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง ลักษณะ วิธีการสกัดการจำแนกและการตรวจสอบสารเหล่านั้น นอกจากยังใช้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์มาค้นคว้าวิจัยสมุนไพรด้านเภสัชวิทยา พิษวิทยา การพัฒนารูปแบบยา การทดสอบทางเภสัช และการวิจัยทางคลินิกอีกด้วยทั้งนี้เพื่อให้ได้ยาที่มีประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการรักษาโรค

สารประกอบทางเคมีของเภสัชวิทยาของพืชสมุนไพร จำแนกเป็น 2 จำพวก คือ

1. Primary metabolite เป็นสารที่มีอยู่ในพืชชั้นสูงทั่วไป พบในพืชทุกชนิดเป็นผลิตผลที่ได้จากขบวนการสังเคราะห์แสง(Photosynthesis) เช่นคาโบไฮเดรท ไขมัน โปรตีน เม็ดสี(pigment)และเกลืออนินทรีย์ (Inorganic salt) เป็นต้น

2. Secondary metabolite เป็นสารประกอบที่มีลักษณะค่อนข้างพิเศษ พบต่างกันในพืชแต่ละชนิด คาดหมายว่าเกิดจากขบวนการชีวะสังเคราะห์(Biosynthesis) ที่มีเอนไซม์ (enzyme) เข้าร่วม สารประกอบนี้มี อัลคาลอยด์ (Alkaloid), แอนทราควิโนน (Anthraquinone), น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) เป็นต้น

ส่วนใหญ่สารพวก secondary metabolite จะมีสรรพคุณทางยา แต่ก็มิได้แน่นอนตายตัวเสมอไป จากการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า สารพวก primary metabolite บางตัวก็ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคได้เช่นกัน และยังมีข้อสังเกตอีกว่าสารประกอบที่มีฤทธิ์ทางยาในพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอาจมิใช่มีเพียงตัวเดียว อาจมีหลายตัวก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ถ่องแท้จึงจะสามารถสกัดสารที่มีฤทธิ์ทางยามาใช้ได้
สารประกอบในพืชสมุนไพรมีมากมายหลายชนิดในที่นี้จะกล่าวถึงบางตัวที่สำคัญโดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้

1. คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrates) คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอินทรีย์ที่ประกอบด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนคาร์โบไฮเดรตเป็นกลุ่มสารที่พบมากทั้งในพืชและสัตว์ สารที่เป็นคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล กัม (Kum) วุ้น (Agar) น้ำผึ้ง(Honey) เปคติน (Pectin) เป็นต้น

2. ไขมัน (Lipids) ไขมันเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) และเมื่อทำปฏิกิริยากับด่างจะกลายเป็นสบู่ น้ำมันในพืชหลายชนิดเป็นยาสมุนไพร เช่น น้ำมันละหุ่ง น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น

3. น้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil หรือ Essential Oil) น้ำมันหอมระเหยเป็นสารที่พบมากในพืชเขตร้อน มีลักษณะเป็นน้ำมัน มีกลิ่นและรสเฉพาะตัว ระเหยได้ง่ายในอุณหภูมิธรรมดา เบากว่าน้ำ สามารถสกัดออกมาจากส่วนของพืชได้ โดยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ (stream distillation) หรือการบีบ (expresstion) ประโยชน์คือเป็นตัวแต่งกลิ่นในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสมุนไพร มีประโยชน์ด้านขับลม ฆ่าเชื้อโรค พืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย คือ กระเทียม ขิง ขมิ้น ไพล มะกรูด ตะไคร้ กานพลู อบเชย เป็นต้น

4. เรซินและบาลซัม (Resin and Balsums) เรซินเป็นสารอินทรีย์หรือสารผสมประเภทโพลีเมอร์ มีรูปร่างไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะเปราะ แตกง่าย บางชนิดจะนิ่มไม่ละลายน้ำ ละลายได้ในตัวทำละลายอินทรีย์ เมื่อเผาไฟจะหลอมเหลวได้สารที่ใสข้น และเหนียว เช่น ชันสน เป็นต้น บาลซัม เป็นสาร resinous mixture ซึ่งประกอบด้วยกรดซินนามิก (Cinnamic Acid) หรือกรดเบนโซอิค (Benzoic Acid) หรือเอสเตอร์ของกรดสองชนิดนี้ เช่น กำยาน เป็นต้น

5. แอลคาลอยด์ (Alkaloids) แอลคาลอยด์เป็นสารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ (Organic Nitrogen Compound) มักพบในพืชชั้นสูง มีสูตรโครงสร้างซับซ้อนและแตกต่างกันมากมาย ปัจจุบันพบแอลคาลอยด์มากกว่า 5,000 ชนิด คุณสมบัติของแอลคาลอยด์ คือ ส่วนใหญ่มีรสขม ไม่ละลายน้ำ ละลายได้ในสารอินทรีย์ (Organic Solvent) มีฤทธิ์เป็นด่าง แอลคาลอยด์มีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง เช่นใช้เป็นยาระงับปวด ยาชาเฉพาะที่ ยาแก้ไอ ยาแก้หอบหืด ยารักษาแผลในกระเพาะและลำไส้ ยาลดความดัน ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ เป็นต้น พืชสมุนไพรที่มีแอลคาลอยด์เป็นส่วนมาก คือ หมาก ลำโพง ซิงโคนา ดองดึง ระย่อม ยาสูบ กลอย ฝิ่น แสลงใจ เป็นต้น

6. กลัยโคไซน์ (Glycosides) กลัยโคไซด์เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่เกิดจาก aglycone (หรือ genin) จับกับส่วนที่เป็น น้ำตาล (glycone part) ละลายน้ำได้ดี โครงสร้างของ aglycone มีความแตกต่างกันหลายแบบ ทำให้ประเภทและสรรพคุณทางเภสัชวิทยาของกลัยโคไซด์มีหลายชนิด ใช้เป็นยาที่มีประโยชน์ และสารพิษที่มีโทษต่อร่างกายกลัยโคไซน์จำแนกตามสูตรโครงสร้างได้หลายประเภท คือ
- คาร์ดิแอ็ก กลัยโคไซด์ (Cardiac Glycosides) มีฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิต เช่น ใบยี่โถ เป็นต้น
- แอนทราควิโนน กลัยโคไซน์ (Antraquinine Glycosides) มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ยาฆ่าเชื้อ และสีย้อม เช่น ใบมะขามแขก ใบขี้เหล็ก ใบชุมเห็ดเทศ ใบว่านหางจระเข้
- ซาโปนิน กลัยโคไซด์ (Saponin Glycosides) เป็นกลุ่มสารที่มีคุณสมบัติเกิดฟองเมื่อเขย่ากับน้ำ เช่น ลูกประคำดีควาย เป็นต้น
- ไซยาโนเจนนีติก กลัยโคไซด์ (Cyano genetic Glycosides) มีส่วนของ aglycone เช่น Cyanogenetic Nitrate สารกลุ่มนี้เมื่อถูกย่อยจะได้สารจำพวกไซยาไนด์ เช่น รากมันสำปะหลัง ผักสะตอ ผักหนาม ผักเสี้ยนผี กระเบาน้ำ เป็นต้น
- ไอโซไทโอไซยาเนท กลัยโคไซด์ (Isothiocyanate Glycosides) มีส่วนของ aglycone เป็นสารจำพวก Isothiocyanate - ฟลาโวนอล กลัยโคไซด์ (Favonol Glycosides) เป็นสารสีที่พบในหลายส่วนของพืชส่วนใหญ่สีออกไปทางสีแดง เหลือง ม่วง น้ำเงิน เช่น ดอกอัญชัน เป็นต้น
- แอลกอฮอลิก กลัยโคไซด์ (Alcoholic Glycosides) มี aglycone เป็นแอลกอฮอล์
- ยังมีกลัยโคไซด์อีกหลายชนิด เช่น ฟินอลิค กลัยโคไซด์ (Phenolic Glycosides) แอลดีไฮด์ กลัยโคไซด์ (Aldehyde Glycosides) เล็คโทน กลัยโคไซด์ (Lactone Glycosides) และแทนนิน กลัยโคไซด์ เป็นต้น

7. แทนนิน (Tannin) เป็นสารที่พบได้ในพืชหลายชนิด มีโมเลกุลใหญ่และโครงสร้างซับซ้อน มีสถานะเป็นกรดอ่อน รสฝาด แทนนินใช้เป็นยาฝาดสมาน ยาแก้ท้องเสีย ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ และใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมฟอกหนัง กรณีที่รับประทานแทนนินเป็นประจำอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ สมุนไพรที่มีแทนนิน คือ เปลือกทับทิม เปลือกอบเชย ใบฝรั่ง ใบและเปลือกสีเสียด ใบชา เป็นต้นนอกจากสารดังกล่าว ในพืชสมุนไพรยังมีสารประกอบอีกหลายชนิด เช่น ไขมัน สเตียรอยด์ (steroid) เป็นต้น สารเหล่านี้บางชนิดมีสรรพคุณทางยาเช่นกัน

วันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร



ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร
1. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรมีชื่อซ้ำกันหรือใกล้เคียงกันมากและบางท้องถิ่นก็เรียกไม่ เหมือนกันจึงต้องรู้จักสมุนไพรและใช้ให้ถูกต้น
2.ใช้ให้ถูกส่วน ต้นสมุนไพรไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ดอก เปลือก ผล เมล็ด จะมีฤทธิ์ไม่ เท่ากัน บางทีผลแก่ผลอ่อน ก็มีฤทธิ์ต่างกันด้วย ต้องรู้ว่าส่วนใด ใช้เป็นยาได้
3. ใช้ให้ถูกขนาด สมุนไพรถ้าใช้น้อยไป ก็รักษาไม่ได้ผล แต่ถ้ามากไปก็อาจเป็น อันตรายหรือเกิดพิษต่อร่างกายได้
4. ใช้ให้ถูกวิธี ยาสมุนไพรแต่ละชนิด นำมาใช้ต่างกัน มีต้ม, บดเป็นผง, ดอง, ฝน, กิน, ทา, ถูนวด, อบ, รม, หรือ สูดดม เป็นต้น จะต้องรู้วิธีใช้ให้ถูกต้อง
5. ใช้ให้ถูกกับโรค ต้องดูสรรพคุณให้แน่ชัด ว่าใช้แก้โรคอะไร เช่น ท้องผูกต้องใช้ ยาระบาย
6. รักษาความสะอาด ต้องสะอาด ทั้งเครื่องใช้ตัวยา มือ และ สิ่งประกอบอื่นๆ

อาการแพ้ที่อาจพบได้จากการใช้ยาสมุนไพร


1. ผื่นขึ้นตามผิวหนังอาจเป็นตุ่มเล็กๆ ตุ่มโตๆ เป็นปื้นหรือเป็นเม็ดแบนอาจบวม ที่ตาหรือริมฝีปาก
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน (หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง)
3. ประสาทรับความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ฯลฯ
4.ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อยๆ
5. ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้แสดงถึงอันตรายร้ายแรง ต้องรีบไปพบแพทย์
อาการเจ็บป่วยและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพรรักษา
หากผู้ป่วย มีอาการข้างต้น แต่รุนแรง ควรไปหาหมอ หรือไปโรงพยาบาล และถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร หรือ ซื้อยามากินเอง ควรไปพบแพทย์ หรือโรงพยาบาล
1. ไข้สูง (ตัวร้อนมาก) ตาแดง ปวดเมื่อย ซึม บางทีเพ้อ จับไข้วันเว้นวัน
2. ไข้สูง ตัวเหลือง (ดีซ่าน) อ่อนเพลีย อาจมีเจ็บ แถวๆชายโครง
3. ปวดท้องแถวๆรอบสะดือ หรือต่ำจากสะดือลงมาทางขวา เอามือกดเจ็บ ท้องแข็งอาจมีไข้ อาจมีท้องผูก อาจมีคลื่นไส้อาเจียนด้วย
4. เจ็บแปลบๆในท้อง ปวดท้องรุนแรง อาจมีตัวร้อน คลื่นไส้อาเจียนด้วย บางทีเคยปวดท้องบ่อยๆ แต่เพิ่งมาปวดแรงตอนนี้
5. อาเจียน หรือ ไอ มีเลือดออกมาด้วย ควรนำส่งโรงพยาบาล โดยด่วน
6. ท้องเดินอย่างแรง ถ่ายเป็นน้ำ บางทีเหมือนน้ำซาวข้าว บางทีพุ่งออกมา ถ่ายติดติดกัน อ่อนเพลียมาก ตาลึก ผิวแห้ง ถ้าเป็นเด็ก ไม่ควรให้ถ่ายเกิน 3 ครั้ง ถ้าผู้ใหญ่ไม่ควรให้เกิน 5 ครั้ง ต้องรีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ถ้าอยู่ไกลโรงพยาบาล ให้ไปแจ้งที่สถานีอนามัย หรือ อสม. หาน้ำเกลือแห้งมาละลายน้ำให้กิน ถ้าหาไม่ได้ ให้เอาเกลือที่ใช้ในครัว มาละลายน้ำ ถ้ามีน้ำตาลผสมลงไปนิดหน่อยให้กิน ในระหว่างพาส่งโรงพยาบา
7. ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด บางทีเกือบไม่มีเนื้ออุจจาระเลย ถ่ายบ่อย อาจถึง 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และเพลียมาก
8. ในเด็กอายุต่ำกว่า12 ปี ไข้ตัวร้อนมากไอมากหายใจเสียงผิดปกติ หน้าเขียว หรือ ไม่มีไอ แต่ซึมไข้ลอย (คือไข้ไม่ลดตัวร้อนอยู่นาน ตัวร้อนตลอดเวลา)
9. มีเลือดสดๆออกมา จากทางใดก็ตาม อาจเป็นทางช่องคลอด เป็นต้น
10. โรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคเรื้อรัง, โรคที่ดูอาการไม่ออกว่าเป็นอะไรกันแน่, งูพิษกัด, สุนัขบ้ากัด, บาดทะยัก (ตื่นเต้นง่าย คอแข็ง ขากรรไกรแข็ง หนาวสะท้าน มีไข้เล็กน้อย ปวดหัว), กระดูกหัก, มะเร็ง, วัณโรค, กามโรค, ความดันเลือดสูงปอดบวม, โรคตา

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเก็บยาสมุนไพร


การเก็บยาสมุนไพร
การเก็บยาสมุนไพรให้ได้สรรพคุณที่ดี

1. พืชที่ให้น้ำมันหอมระเหย ควรเก็บในขณะดอกกำลังบาน
2. เก็บรากหรือหัว เก็บตอนที่พืชหยุดปรุงอาหาร หรือเริ่มมีดอก
3. เก็บเปลือก เก็บก่อนพืชเริ่มผลิใบใหม่
4. เก็บใบ เก็บก่อนพืชออกดอก ควรเก็บในเวลากลางวัน ที่มีอากาศแห้ง
5. เก็บดอก ควรเก็บเมื่อดอกเจริญเต็มที่ คือ ดอกตูม หรือแรกแย้ม
6. เก็บผล ควรเก็บผลที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่สุก
7. เก็บเมล็ด ควรเก็บเมื่อผลสุกงอมเต็มที่ จะมีสารสำคัญมาก วิธีการเก็บยาตามแพทย์แผนโบราณเพื่อให้ได้ตัวยาที่มีสรรพคุณดีโบราณาจารย์ท่านจึงได้กำหนดให้มีวิธีเก็บยา มีดังต่อไปนี้

1. การเก็บยาตามฤดู
1. คิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) เก็บเอาราก แก่น ตัว (สำหรับสัตว์วัตถุ)
2. วสันตฤดู (ฤดูฝน) เก็บเอาใบ ดอก ลูก หรือ ฝัก
3. เหมันตฤดู (ฤดูหนาว) เก็บเอาเปลือก ต้น กระพี้ เนื้อไม้
2. การเก็บยาตามทิศทั้ง 4

1. วันอาทิตย์, วันอังคาร เก็บเอาทางทิศตะวันออก
2. วันพุธ, วันศุกร์ เก็บเอาทางทิศใต้
3. วันจันทร์, วันเสาร์ เก็บเอาทางทิศตะวันตก
4. วันพฤหัสบดี เก็บเอาทางทิศเหนือทิศที่จะไปนี้ ให้ถือเอาที่พักของหมอเป็นศูนย์กลาง

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ความหมายของสมุนไพร

ความหมายของสมุนไพร
คำว่า สมุนไพร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง พืชที่ใช้ ทำเป็นเครื่องยา สมุนไพรกำเนิดมาจากธรรมชาติและมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะ ในทางสุขภาพ อันหมายถึงทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค ความหมายของยาสมุนไพรในพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ได้ระบุว่า ยาสมุนไพร หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษาชาติสัตว์หรือแร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพ เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผลฯลฯ ซึ่งมิได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใด ๆ แต่ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่งแต่ในความรู้สึกของคนทั่วไปเมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น

สมุนไพร หมายถึง พืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ การใช้สมุนไพรสำหรับรักษาโรค หรืออาการเจ็บป่วยต่างๆ นี้ จะต้องนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า "ยา" ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย เราเรียกพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยานี้ว่า "เภสัชวัตถุ"พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น เร่ว กระวาน กานพลู และจันทน์เทศ เป็นต้น เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาสำหรับขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ พืชเหล่านี้ถ้านำมาปรุงอาหารเราจะเรียกว่า "เครื่องเทศ" ในพระราชบัญญัติยาฉบับที่ 3 ปีพุทธศักราช 2522 ได้แบ่งยาที่ได้จากเภสัชวัตถุนี้ไว้เป็น 2 ประเภทคือ
1. ยาแผนโบราณ หมายถึง ยาที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณหรือในการบำบัดโรคของสัตว์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นยาแผนโบราณ หรือได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
2. ยาสมุนไพร หมายถึงยาที่ได้จากพืชสัตว์แร่ธาตุที่ยังมิได้ผสมปรุงหรือแปรสภาพสมุนไพรนอกจากจะใช้เป็นยาแล้ว ยังใช้ประโยชน์เป็นอาหาร ใช้เตรียมเป็นเครื่องดื่ม ใช้เป็นอาหารเสริม เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง ใช้แต่งกลิ่น แต่งสีอาหารและยา ตลอดจนใช้เป็นยาฆ่าแมลงอีกด้วย ในทางตรงกันข้าม มีสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีพิษ ถ้าใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้เกินขนาดจะมีพิษถึงตายได้ ดังนั้นการใช้สมุนไพรจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการนำสมุนไพรมาใช้พัฒนาประเทศมากขึ้น สมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินโครงการ สมุนไพรกับสาธารณสุขมูลฐาน โดยเน้นการนำสมุนไพรมาใช้บำบัดรักษาโรคในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐมากขึ้น และ ส่งเสริมให้ปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ภายในหมู่บ้านเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรมากยิ่งขึ้น อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยประเทศชาติประหยัดเงินตราในการสั่งซื้อยาสำเร็จรูปจากต่างประเทศได้ปีละเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีผู้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนายาสมุนไพรให้สามารถนำมาใช้ในรูปแบบที่สะดวกยิ่งขึ้น เช่น นำมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูล ตอกเป็นยาเม็ด เตรียมเป็นครีมหรือยาขี้ผึ้งเพื่อใช้ทาภายนอก เป็นต้น ในการศึกษาวิจัยเพื่อนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาแผนปัจจุบันนั้น ได้มีการวิจัยอย่างกว้างขวาง โดยพยายามสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรเพื่อให้ได้สารที่บริสุทธิ์ ศึกษาคุณสมบัติทางด้านเคมี ฟิสิกส์ของสารเพื่อให้ทราบว่าเป็นสารชนิดใด ตรวจสอบฤทธิ์ด้านเภสัชวิทยาในสัตว์ทดลองเพื่อดูให้ได้ผลดีในการรักษาโรคหรือไม่เพียงใด ศึกษาความเป็นพิษและผลข้างเคียง เมื่อพบว่าสารชนิดใดให้ผลในการรักษาที่ดี โดยไม่มีพิษหรือมีพิษข้างเคียงน้อยจึงนำสารนั้นมาเตรียมเป็นยารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อทดลองใช้ต่อไป
สงวนลิขสิทธิ์โดย @ เว็บไซต์สมุนไพรดอทคอม (www.samunpri.com)การนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อ กรุณาทำลิงค์กลับมายังเว็บให้ด้วยนะครับ